ม.ราชภัฏอุบลฯ ปลื้มผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต ๘๕.๑๖%

ผศ.ชัยวัฒน์ บุณฑริก อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้มอบให้สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการสำรวจความพึงพอใจต่อบัณฑิตของผู้ใช้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และสำรวจความพึงพอใจต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีของนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เก็บข้อมูลจากผู้ใช้บัณฑิต ทั้งหมด ๔๐๐ ตัวอย่าง โดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และเก็บข้อมูลจากนักศึกษา จำนวน ๒๐๐ ตัวอย่าง โดยวิธีการสัมภาษณ์ คำตอบจากการสัมภาษณ์กำหนดเป็นระดับความพึงพอใจ ๕ ระดับ ได้แก่ ๑) ไม่พอใจมาก ๒) ไม่พอใจ ๓) พอใจน้อยจนเกือบจะไม่พอใจ ๔) พอใจ และ ๕) พอใจมาก ทั้งนี้ในส่วนของผู้ใช้บัณฑิต ได้สำรวจความพึงพอใจใน ๓ ประเด็น คือ ความรู้ความสามารถพื้นฐาน ความรู้ความสามารถทางวิชาการ และคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ ส่วนกลุ่มนักศึกษา ได้สำรวจความพึงพอใจใน ๒ ประเด็น คือ การจัดการเรียนการสอน และการให้บริการของมหาวิทยาลัย

        สำหรับผลการสำรวจสรุปในภาพรวมด้านความพึงพอใจต่อบัณฑิตของผู้ใช้บัณฑิต ในภาพรวม อยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก คิดเป็นร้อยละ ๘๕.๑๖ คะแนนเฉลี่ย ๔.๒๕๗๘ คะแนนผลการประเมินตัวชี้วัด ๕.๐๐๐๐ พบว่าในประเด็นด้านคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ ที่ผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอใจสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย๔.๕๒๗๖) เมื่อพิจารณาในรายการย่อย พบว่าผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอใจมากสุดในรายการ “ความซื่อสัตย์/สุจริต” (คะแนนเฉลี่ย๔.๖๖๑๘) รองลงมาคือ “ความรับผิดชอบต่อหน้าที่” (คะแนนเฉลี่ย ๔.๕๓๓๗) ส่วนรายการที่ผู้ใช้บัณฑิตพึงพอใจสูงที่สุดในด้านความรู้ความสามารถพื้นฐาน คือ “ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น/การทำงานเป็นทีม” (คะแนนเฉลี่ย๔.๔๗๖๐) รองลงมาคือ “ความรู้ทักษะการใช้ภาษาไทย” (คะแนนเฉลี่ย ๔.๓๑๗๓)

        ส่วนด้านความพึงพอใจต่อมหาวิทยาลัยของนักศึกษา คิดเป็นร้อยละ ๘๐.๗๔ คะแนนเฉลี่ย ๔.๐๓๗๒ คะแนนผลการประเมินตัวชี้วัด ๔.๑๔๘๐ พบว่าในภาพรวมและในแต่ละหัวข้อย่อยๆทุกประเด็นมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากพอสมควรนั้นน่าจะถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ คือ ๔.๐๓๗๒ เมื่อพิจารณาในด้านที่นักศึกษามีความพึงพอใจด้านการจัดการเรียนการสอน (คะแนนเฉลี่ย ๔.๐๗๓๖) ในประเด็นย่อยของเรื่องนี้ นักศึกษามีความพึงพอใจด้านอาจารย์ผู้สอนมากที่สุด (คะแนนเฉลี่ย ๔.๒๐๑๓) ส่วนด้านการให้บริการ (คะแนนเฉลี่ย ๔.๐๐๐๘)

        ข้อเสนอแนะจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใช้บัณฑิตมีข้อเสนอแนะให้มหาวิทยาลัยเร่งปรับปรุง ในด้านการเพิ่มทักษะความรู้ในการทำงาน และทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษามีข้อเสนอแนะให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงการให้บริการของเจ้าหน้าที่ให้บริการด้วยความเต็มใจ การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอ รวมทั้งการเพิ่มสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนให้เพียงพอและทันสมัย ในการนี้มหาวิทยาลัยได้เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต นักศึกษา และพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่สมบูรณ์พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 


ไฟล์แนบข่าว (คลิกเพื่อดาวน์โหลดไฟล์แนบ)


Share this post